ฉันดูแลคนไข้ แล้วใครดูแลฉัน ?

คอลัมน์ เทคนิคบริหารงานสุขภาพ  นิตยสารสุขศาลา ฉบับที่ 18
โดย นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์

          เมื่อมีคนไข้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือมีความพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนที่เราคิดถึงเสมอคือญาติ ด้วยความเป็นห่วงคนไข้ เรามักมีคำแนะนำมากมายให้ญาติกลับไปปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้คนไข้ดีขึ้น แม้คนไข้กลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว ทีมสุขภาพก็อาจจะตามไปเยี่ยมบ้านอีกเพื่อไปตรวจการบ้านว่าญาติได้ทำตามที่เราแนะนำอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากทำไม่ได้ เราก็มักจะตำหนิ และรู้สึกว่าทำไมญาติไม่ใส่ใจให้มากกว่านี้ แต่ใครจะเคยถามญาติๆ ที่ดูแลคนไข้บ้างหรือไม่ว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้าง และแต่ละวันเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง

ข้อเตือนใจ 3 ข้อ เมื่อเจอผู้ดูแล

  1. ดูแลผู้ดูแลก่อนดูแลคนไข้ เพราะญาติจะเป็นผู้ดูแลคนไข้ของเราไปในอนาคต ยิ่งญาติมีกำลังกายและกำลังใจมากแค่ไหน ก็ยิ่งดูแลคนไข้ได้ดี และยืนระยะดูแลได้นานขึ้นเท่านั้น  และโดยทั่วไปทีมสาธารณสุขมักจะพุ่งความสนใจไปที่คนไข้อยู่แล้ว หากเริ่มดูแลคนไข้ก่อนส่วนมากก็จะลืมญาติไปเลย
  2. ไม่ว่าผู้ดูแลจะดูแลคนไข้ได้ดีมากน้อยเพียงไร ขอให้เชื่อว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว ญาติส่วนใหญ่ไม่ได้มีหน้าที่เพียงดูแลคนไข้เท่านั้น  แต่เขายังต้องดูแลครอบครัวของตนเอง หาเลี้ยงครอบครัว ซ้ำยังอาจต้องคอยรองรับอารมณ์ของคนไข้ หรือบางคนก็ไม่ได้เต็มใจมาดูแลคนไข้  ความอ่อนล้าทั้งทางกายและทางใจเหล่านี้ทำให้เขาไม่สามารถดูแลคนได้เต็มที่ หรืออาจจะขาดตกบกพร่องอย่างมากก็ได้ เราไม่ควรซ้ำเติม แต่ใช้จุดนี้เป็นฐาน และช่วยกันหาหนทางช่วยผ่อนภาระของเขา เพื่อให้เขาดูแลคนไข้ดีขึ้นได้อย่างไร
  3. ดูแลผู้ดูแลเท่าเทียมกับคนไข้ โดยถือเสมือนว่าผู้ดูแลคือคนไข้อีกคนหนึ่งของเรา ถ้าเราดูแลคนไข้คนไหนมากไปคนไข้อีกคนอาจจะแย่ได้ บางครั้งอาจต้องประนีประนอมเป้าหมายการดูแล ให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ดูแล หรืออาจจำเป็นต้องพิจารณาหาแหล่งความช่วยเหลืออื่นมาเติมเต็มเพื่อให้เขาดูแลกันได้ดียิ่งขึ้น มิใช่ญาติที่มีหน้าที่ดูแลคนไข้เท่านั้น คนไข้ก็มีหน้าที่ดูแลญาติด้วยเช่นกัน เช่น ไม่ใช้อารมณ์เกินไป หรือพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด

การประเมินผู้ดูแล โดยใช้หลัก CAREGIVER ซึ่งพัฒนาโดย อ.พญ.ดาริน จตุรภัทรพร ดังนี้

C = Care : ผู้ดูแลมีหน้าที่อะไรบ้างในแต่ละวัน ทั้งหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ดูแลครอบครัว ดูแลตนเอง อาจจะใช้วิธีวาดรูปนาฬิกาแล้วไล่กับผู้ป่วยว่าแต่ละช่วงของวันต้องทำอะไรบ้าง

A = Affection : ประเมินสภาพทางอารมณ์  รู้สึกสับสน  น้อยใจ  เศร้าโศก  หมดหวัง  รู้สึกผิด  หรือเหนื่อยแค่ไหน ไม่ใช่ความผิดที่ผู้ดูแลจะมีความรู้สึกเช่นนี้ หน้าที่เราคือถามหาที่มาหรือสาเหตุเพื่อที่จะได้ช่วยเยียวยา

R = Rest : ได้พักบ้างหรือไม่  ถ้าไม่ได้พัก  ควรจัดตารางให้ตัวเองได้พัก และได้ทำภาระกิจของตนเองบ้าง บางครั้งทีมสุขภาพอาจต้องช่วยประสาน ญาติคนอื่นในครอบครัว หรืออสม. ให้ช่วยเข้ามาผลัดเปลี่ยนบ้าง

E = Empathy : แสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจถึงความยากลำบากของการดูแล รวมทั้งให้อภัยหากเขาทำบางอย่างขาดตกบกพร่องบ้าง

G = Goal of care : วางเป้าหมายการรักษาร่วมกัน พูดคุยถึงความคาดหวังระยะยาว และวางเป้าหมายระยะสั้น เป็นขั้นๆ ตามที่ทำได้จริง เมื่อถึงเป้าหมายแล้วก็ขยับขึ้นไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ผู้ดูแลไม่เครียด

I = Information : ให้ความรู้เรื่องโรค  การพยากรณ์โรค  และแนวทางการดูแลรักษา  พยายามหาเทคนิคที่ทำให้การดูแลง่ายขึ้น อาจรวมถึงการจัดหากายอุปกรณ์ หรือปรับสภาพบ้าน

V = Ventilate : รับฟังผู้ดูแล  และแนะนำให้ผู้ดูแลหาผู้ที่สามารถพูดระบายความรู้สึกได้ ทีมสุขภาพเองเป็นคนสำคัญที่จะช่วยรับฟังให้ญาติได้ระบายความทุกข์ได้

E = Empowerment : ชื่นชมให้กำลังใจสิ่งที่ผู้ดูแลทำได้ดี แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยก็ควรเอ่ยปากชม

R = Resources : หาผู้ช่วยเหลือด้านต่างๆที่จำเป็น  เช่น  ผู้มาช่วยสับเปลี่ยนดูแลผู้ป่วย  สวัสดิการที่มี

ทักษะที่สำคัญในการดูแลผู้ดูแล ผู้ดูแลผู้ป่วย

  1. Emphatic listening คือ “การฟังด้วยใจ” ไม่ใช่เพียงการฟังเรื่องราวเท่านั้น แต่ต้องฟังถึงอารมณ์ ฟังเพื่อเข้าถึงความรู้สึกของญาติที่ดูแล ฟังเพื่อเข้าในเรื่องราว
  2. Family meeting คือการนำสมาชิกในครอบครัวมาประชุมกัน เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยไปในแนวทางเดียวกัน และยังเป็นการทำข้อตกลงภายในครอบครัว
  3. การจัดการชีวิตการดูแลชีวิตประจำวันให้ง่าย เช่นการจัดหากายอุปกรณ์หรือการปรับสภาพบ้านต่างๆ การปรับวิธีการกินยา  เรื่องเหล่านี้ถ้าทำได้จะทำให้การดูแลง่ายขึ้น และผู้ดูแลเต็มใจมากขึ้น ซึ่งทีมสุขภาพสามารถเรียนรู้ได้จากผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่เคยดูแล
  4. การจัดหาแหล่งความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งที่เป็นทางราชการ หรือต้นทุนในชุมชนเอง การบริหารทรัพยากรเหล่านี้ต้องไม่มากจนกลายเป็นญาติไม่ต้องสนใจอะไรเลย หรือไม่น้อยเกินไปจนเขาเหนื่อย ทีมสาธารณสุขอาจต้องเป็นแกนนำในการจัดหาหากครอบครัวนั้นไม่มีพลังอำนาจมากพอจะต่อรองกับชุมชน

เป้าหมายของการดูแล คือการทำให้เกิดผู้ป่วยและครอบครัวสามารถกลับมาดูแลกันเองได้ การช่วยเหลือจากทีมเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครภายนอก มีความจำเป็นมากโดยเฉพาะในช่วงที่ญาติอาจจะเหนื่อยและท้อแท้ การที่เราดูแลผู้ดูแลได้ดีจะทำให้ลดปัญหาการทอดทิ้งผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องรอให้ใครต้องนำไปออกวงเวียนชีวิตก่อน

 

Leave a comment